โดยเฉลี่ยคนทั่วไปจะดูโทรศัพท์ของตัวเองประมาณ 150 ครั้งต่อวัน ให้เราใคร่ครวญดูให้ดี มีบางสิ่งดึงดูดความสนใจของเราและอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีกับเราเสมอ ทริสตัน แฮริสเชื่อเช่นนั้น เขาเป็นอีกเสียงหนึ่งจากภาพยนตร์ร่วมกับผู้มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีอีกหลายๆคน ซึ่งนำเราเข้าสู่ “สื่อสังคมออนไลน์” แต่แทนที่จะยกย่องชมเชย เสียงของพวกเขากลับเป็นสัญญาณเตือนภัย โดยเรียกสิ่งที่เราเผชิญ (และภาพยนตร์เรื่องนี้) ว่า ทุนนิยมสอดแนม : ภัยแฝงเครือข่ายอัจฉริยะ “พวกเราคือสินค้า ความสนใจของเราคือสินค้าที่ถูกขายให้แก่ผู้ผลิตสื่อโฆษณา” เราให้ความสนใจกับสิ่งที่เราเชื่อว่ามีคุณค่าและคุ้มค่า ในความเป็นจริงแล้ว เราให้ความสนใจสิ่งใด
คำว่า ภัยแฝง บ่งบอกถึงสถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจเลือกบางสิ่ง เชื่อหรือไม่ว่าเราเผชิญกับภัยแฝงเช่นเดียวกันนี้ในชีวิตฝ่ายวิญญาณของเรา มีสิ่งที่เราต้องเลือกในแต่ละวัน เช่น ใครหรือสิ่งใดที่เราควรให้ความสนใจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ใครหรือสิ่งใดที่เราควรนมัสการ ผู้เขียนสดุดีได้เลือกอย่างชัดเจนว่า “ข้าพระองค์จะถวายสาธุการแด่พระองค์ทุกๆวัน สรรเสริญพระนามของพระองค์เป็นนิจกาล” (สดด.145:2) ท่านได้ให้เหตุผลไว้ในข้อถัดไปว่า “พระเจ้านั้นยิ่งใหญ่ และสมควรจะสรรเสริญอย่างยิ่ง ความใหญ่ยิ่งของพระองค์นั้นเหลือจะหยั่งรู้” (ข้อ 3)
ผู้เขียนสดุดีเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดจะเทียบกับความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าได้ ดังนั้นท่านจึงมุ่งความสนใจของท่านไปที่นั่น พระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงสมควรจะได้รับการสรรเสริญจากพวกเรา
ฟิลิปป์ เพอทีต นักไต่ลวดเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในปี 1971 เมื่อเขาเดินบนลวดสลิงที่ขึงระหว่างหอคอยของมหาวิหารนอทเทรอดามในกรุงปารีส สามปีต่อมาเขาถูกจับกุมเนื่องจากการเดินไต่ลวดโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างตึกแฝดเวิลด์เทรดที่ครั้งหนึ่งเคยโดดเด่นอยู่เหนือท้องฟ้าเมืองนิวยอร์ก แต่ในปี 1987 การเดินของฟิลิปป์ดูต่างออกไป ด้วยคำเชิญจากเท็ดดี้ คอลเล็คนายกเทศมนตรีเมืองเยรูซาเล็ม ฟิลิปป์เดินข้ามหุบเขาฮินนอมบนลวดสลิงสูงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลอิสราเอลในปีนั้น เมื่อไปถึงครึ่งทาง ฟิลิปป์ปล่อยนกพิราบ (เขาอยากใช้นกเขา) เพื่อสื่อถึงความงามแห่งสันติภาพ นี่เป็นการแสดงที่แปลกและอันตราย แต่ทั้งหมดก็เพื่อสันติภาพ ฟิลิปป์กล่าวภายหลังว่า “ในช่วงเวลานั้น ฝูงชนทั้งหมดต่างลืมความแตกต่างของพวกเขา”
การไต่ลวดของฟิลิปป์ทำให้ผมนึกถึงอีกเหตุการณ์ที่น่าใจหายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพระกายของพระเยซูถูกแขวนอยู่ระหว่างสวรรค์และโลก อัครทูตเปาโลบอกเราว่า “พระเจ้าทรงพอพระทัยที่จะ...ให้สิ่งสารพัดกลับคืนดีกับพระเจ้าไม่ว่าสิ่งนั้นจะอยู่ในแผ่นดินโลกหรือในสวรรค์พระองค์ทรงทำให้มีสันติภาพด้วยพระโลหิตแห่งกางเขนของ[พระคริสต์]” (คส.1:19-20) เปาโลบันทึกว่า “[พวกเรา] ซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่ถูกกันกับพระเจ้า” (ข้อ 21) แต่ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เหนือยิ่งกว่าการแสดงเพื่อส่งเสริมสันติภาพ พระเยซูองค์พระเมสสิยาห์ได้ทรงทำให้เกิดสันติภาพขึ้นโดยการหลั่งพระโลหิตบนกางเขน นี่คือความสำเร็จที่ไม่มีสิ่งใดจะเทียบได้เพราะไม่มีความจำเป็น สันติภาพของพระองค์นั้นคงอยู่ชั่วนิรันดร์
มีนิทานพื้นบ้านเก่าแก่เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ขนน้ำจากแม่น้ำกลับบ้านทุกวัน โดยใช้ถังสองใบสอดไว้ที่ปลายสองข้างของไม้คาน ถังใบหนึ่งใหม่และแข็งแรง ส่วนอีกใบหนึ่งเก่ามากและมีรอยแตก เมื่อหญิงคนนั้นกลับถึงบ้าน ถังใบใหม่ยังคงมีน้ำอยู่เต็ม แต่ถังใบเก่าแทบจะไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย ถังใบเก่ารู้สึกเสียใจและขอโทษ หญิงนั้นหันกลับไปชี้ที่ทางเดินแล้วถามถังใบเก่าว่า “เจ้าเห็นดอกไม้พวกนั้นที่เติบโตอยู่ข้างทางฝั่งของเจ้าไหม เจ้ารดน้ำพวกมันทุกวัน ทำให้ทางเดินไปและกลับจากแม่น้ำของฉันเต็มไปด้วยความงดงามอยู่เสมอ”
เราอยู่ในโลกที่ชื่นชมและยกย่องคนหนุ่มสาว คนที่อายุน้อยและมีความมั่นคง ไร้ข้อตำหนิและมีความสามารถ แต่พระคัมภีร์บอกเราอย่างชัดเจนถึงความงดงามอันชอบธรรมที่มาจากผู้สูงวัยและผู้อ่อนแอ หรือแม้แต่มีร่องรอยแตกหักและมีรูรั่ว ผู้แต่งเพลงสดุดีอาวุโสกล่าวว่า “คนชอบธรรม ก็งอกขึ้นอย่างต้นอินทผลัม เจริญขึ้นอย่างต้นสนสีดาร์ในเลบานอน” (สดด.92:12)
จริงอยู่ ความชรา ไม่ได้มีความหมายเท่ากับคำว่าฉลาดเสมอไป แต่ความสูงวัยมีส่วนช่วยชีวิตของเราในแบบที่คนหนุ่มสาวทำไม่ได้ เพราะพวกเขามีชีวิตอยู่มายาวนานกว่า มีประสบการณ์มากกว่า และยืนหยัดมั่นคงมากกว่า ผลิดอกออกผลในความเชื่อและความไว้วางใจในพระเจ้า คนเช่นนี้ “แก่แล้วก็ยังเกิดผล ...มีน้ำเลี้ยงเต็มและเขียวสดอยู่” (ข้อ 14)
ผู้สูงอายุในชีวิตของเรายังคงเกิดผลที่งดงามอยู่ ให้เราใช้เวลามองดูความจริงนี้และเอาใจใส่ดูแลพวกเขา
ในด้านภาพยนตร์นั้นถือว่าทำได้ดี เพลงประกอบก็สะท้อนอารมณ์และทำให้รู้สึกสงบ ส่วนเนื้อหานั้นเข้าใจได้ง่ายและน่าสนใจ วิดีโอนี้นำเสนองานวิจัยของต้นเรดวู้ดที่ถูกฉีดสารที่คล้ายกับอะดรีนาลีนเพื่อยับยั้งไม่ให้มันเข้าสู่ภาวะการจำศีล ต้นไม้เหล่านั้นจึงตายลงเพราะพวกมันไม่ได้เข้าสู่วงจรของการ “จำศีลในฤดูหนาว” ตามธรรมชาติ
สิ่งที่วิดีโอนี้กำลังสื่อคือสภาพนี้อาจเกิดขึ้นกับเราได้เช่นกันถ้าเรายุ่งอยู่ตลอดเวลาโดยไม่มีฤดูแห่งการหยุดพัก และนั่นอาจเป็นเรื่องจริง แต่วิดีโอนั้นมีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง เพราะไม่เคยมีงานวิจัยนี้ ต้นเรดวู้ดมีสีเขียวอยู่ตลอดโดยไม่มีช่วงจำศีล และต้นไม้ในวิดีโอเป็นต้นสนซีคัวญ่ายักษ์ไม่ใช่ต้นเรดวู้ดแนวชายฝั่ง แม้ว่าวิดีโอนี้จะดูมีประโยชน์ แต่มันตั้งอยู่บนความหลอกลวง
เราอาศัยอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีทำให้การหลอกลวงขยายใหญ่และเพิ่มมากขึ้นจนถึงจุดที่ทำให้เราเชื่อว่านั่นคือความจริง พระธรรมสุภาษิตซึ่งเต็มไปด้วยพระปัญญาของพระเจ้าพูดถึงความแตกต่างอย่างชัดเจนของความจริงและความหลอกลวง “ริมฝีปากที่พูดจริงทนอยู่ได้เป็นนิตย์ แต่ลิ้นที่พูดมุสาอยู่ได้เพียงประเดี๋ยวเดียว” (12:19) และข้อต่อไปบอกเราว่า “ความหลอกลวงอยู่ในใจของบรรดาผู้คิดแผนการชั่วร้าย แต่บรรดาผู้กะแผนงานที่ดีมีความชื่นบาน” (ข้อ 20)
ในทุกสิ่งนั้นจะต้องมีความซื่อตรง ไม่ว่าจะเป็นพระบัญชาของพระเจ้าไปจนถึงวิดีโอเกี่ยวกับการจำศีลในฤดูหนาว เพราะความจริง “ทนอยู่ได้เป็นนิตย์”
คุณอาจเคยเห็นหรือได้ยินคำพูดต่อไปนี้ในรูปแบบต่างๆ “ถ้าอยากไปให้เร็ว จงไปคนเดียว แต่ถ้าอยากไปให้ไกล ต้องไปด้วยกัน” นี่เป็นความคิดที่ฟังดูดีใช่ไหม แต่มีงานวิจัยที่เชื่อถือได้ชิ้นใดบ้างที่ยืนยันกับเราว่าคำพูดเหล่านี้ไม่ใช่แค่ฟังดูดี แต่เป็นจริงได้ด้วย
ที่จริงแล้วมีงานวิจัยทำนองนี้ชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยชาวอังกฤษและอเมริกันที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีคนอื่นยืนอยู่ด้วยนั้น พวกเขาจะมองเห็นภูเขามีขนาดเล็กกว่าในเวลาที่ยืนอยู่คนเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “การสนับสนุนทางสังคม” มีความสำคัญมากจนถึงกับทำให้ขนาดของภูเขาในความคิดของเราเล็กลงไปถนัดตา
ดาวิดพบว่ากำลังใจที่เกิดจากมิตรภาพระหว่างท่านกับโยนาธานนั้นทั้งงดงามและจริงแท้ พระพิโรธจากความอิจฉาของกษัตริย์ซาอูลเป็นเหมือนภูเขาที่ยากจะพิชิตได้สำหรับดาวิด และทำให้ท่านกลัวว่าจะถูกฆ่า (ดู 1 ซมอ.19:9-18) หากท่านไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท เรื่องราวอาจจะพลิกผันไปอีกด้าน แต่โยนาธานยืนเคียงข้างสหายของท่าน “ท่านเศร้าใจด้วยเรื่องดาวิด เพราะว่าพระราชบิดาของท่านได้หยามน้ำหน้าดาวิด” (20:34) “ทำไมเขาจะต้องถูกประหาร” ท่านถาม (ข้อ 32) มิตรภาพของพวกเขาที่ได้รับการเจิมจากพระเจ้าช่วยส่งเสริมดาวิดและช่วยทำให้ท่านได้กลายมาเป็นกษัตริย์ของอิสราเอล
มิตรภาพของเรานั้นสำคัญ และเมื่อพระเจ้าทรงเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์นั้น เราจะสามารถหนุนใจกันและกันเพื่อทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราจะคิดได้
คุณเคยไหมที่กำลังเล่าเรื่องอยู่แล้วต้องหยุดกลางคันเพราะนึกรายละเอียดบางอย่างไม่ออก เช่น ชื่อหรือวันที่่ เรามักเข้าใจว่าเป็นเพราะอายุที่มากขึ้นโดยเชื่อว่าความทรงจำเลือนหายไปตามเวลา แต่งานวิจัยล่าสุดไม่สนับสนุนความคิดนี้ ที่จริงแล้วงานวิจัยบ่งชี้ว่าความทรงจำของเราไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นความสามารถในการกู้คืนความทรงจำของเราต่างหาก หากไม่มีการฝึกฝนอย่างเป็นประจำแล้ว การเข้าถึงความทรงจำจะทำได้ยากขึ้น
หนึ่งในวิธีที่จะพัฒนาความสามารถในการกู้หรือเรียกคืนความทรงจำนั้นคือการจัดตารางอย่างสม่ำเสมอที่จะทำสิ่งเดิมนั้นหรือไปอยู่ในเหตุการณ์บางเรื่องที่จะช่วยรื้อฟื้นความทรงจำ พระเจ้าองค์พระผู้สร้างของเราทรงทราบสิ่งนี้ พระองค์จึงทรงให้ลูกหลานของชนชาติอิสราเอลจัดเวลาหนึ่งวันต่อสัปดาห์ไว้สำหรับการนมัสการและหยุดพัก นอกจากการพักผ่อนทางกายที่ได้จากวันหยุดแล้ว เรายังได้มีโอกาสฝึกฝนจิตใจที่จะระลึกว่า “ในหกวันพระเจ้าทรงสร้างฟ้าและแผ่นดิน ทะเล และสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในที่เหล่านั้น” (อพย.20:11) สิ่งนี้ช่วยให้เราจดจำได้ว่ามีพระเจ้าอยู่ และทุกสิ่งไม่ได้มาจากเรา
ในท่ามกลางความเร่งรีบของชีวิต บางครั้งเราลืมสิ่งที่พระเจ้าได้ทรงทำเพื่อเราและผู้อื่น เราลืมว่าใครกันที่เฝ้าดูชีวิตของเราอย่างใกล้ชิด และใครที่สัญญาว่าจะอยู่กับเราในเวลาที่เรารู้สึกท่วมท้นและโดดเดี่ยว การหยุดพักจากกิจวัตรประจำวันจะทำให้เรามีโอกาสที่จะ “ฝึกฝนการกู้คืน” ที่จำเป็นนั้น คือ การตัดสินใจอย่างมีเป้าหมายที่จะหยุดและระลึกถึงพระเจ้าของเราและ “อย่าลืมพระราชกิจอันมีพระคุณทั้งสิ้นของพระองค์” (สดด.103:2)
นักวิชาการและนักเขียนเจมส์ อินเนล แพ็คเกอร์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ เจ. ไอ. แพ็คเกอร์ เสียชีวิตลงในปี 2020 ก่อนวันเกิดปีที่เก้าสิบสี่ของเขาเพียงห้าวัน หนังสือที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขาคือ รู้จักพระเจ้า (Knowing God) ขายได้มากกว่า 1.5 ล้านเล่มนับตั้งแต่ตีพิมพ์ แพ็คเกอร์ให้ความสำคัญกับสิทธิอำนาจของพระคัมภีร์และการสร้างสาวก และกระตุ้นเตือนให้ผู้เชื่อในพระคริสต์ทุกแห่งหนดำเนินชีวิตเพื่อพระเยซูอย่างจริงจัง ในช่วงบั้นปลายชีวิตเขาเคยถูกถามถึงคำสั่งเสียสุดท้ายสำหรับคริสตจักร แพ็คเกอร์กล่าวประโยคที่มีคำเพียงสี่คำว่า “สรรเสริญพระคริสต์ทุกทาง”
ถ้อยคำเหล่านี้สะท้อนถึงชีวิตของอัครทูตเปาโล หลังการกลับใจใหม่อย่างอัศจรรย์ ท่านก็ตั้งใจทำพันธกิจที่อยู่ตรงหน้าท่านอย่างสัตย์ซื่อและวางใจพระเจ้าในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น ถ้อยคำของเปาโลที่พบในหนังสือโรมเป็นถ้อยคำที่อัดแน่นไปด้วยหลักศาสนศาสตร์มากที่สุดในพันธสัญญาใหม่ และแพ็คเกอร์ได้สรุปอย่างสอดคล้องกับสิ่งที่อัครทูตเขียนไว้ว่า “สรรเสริญพระเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบิดาของพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา” (15:6 )
ชีวิตของเปาโลเป็นตัวอย่างสำหรับเรา เราสามารถยกย่อง (ถวายเกียรติ) พระเจ้าได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือการดำเนินชีวิตตามที่ได้ทรงกำหนดไว้สำหรับเรา และฝากผลลัพธ์ไว้ในพระหัตถ์ซึ่งไม่มีวันเปลี่ยนแปลงของพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือ การเดินทางเผยแผ่ศาสนา การสอนในชั้นประถม หรือการดูแลพ่อแม่สูงอายุ เป้าหมายยังคงเดิมคือการ สรรเสริญพระคริสต์ทุกทาง! เมื่อเราอธิษฐานและอ่านพระคัมภีร์ พระเจ้าจะทรงช่วยให้เราดำเนินชีวิตที่อุทิศตัวในการเชื่อฟัง และมีชีวิตในแต่ละวันเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเยซูในทุกสิ่งที่เราพูดและทำ
ผมและเพื่อนอีกสองคนกำลังจะไปยังหนึ่งในสถานที่ที่ใฝ่ฝันไว้ นั่นคือการไปเดินป่าที่แกรนด์ แคนยอน เราไม่แน่ใจว่าเรามีน้ำเพียงพอหรือไม่ในตอนที่เริ่มออกเดินทาง และน้ำนั้นก็หมดไปอย่างรวดเร็ว เราไม่มีน้ำเหลือเลยในขณะที่ระยะทางยังอีกไกลกว่าจะไปถึงริมหน้าผา เราเริ่มหายใจหอบสลับกับการอธิษฐาน เมื่อเลี้ยวตรงทางโค้งเรารู้สึกเหมือนมีปาฏิหารย์เกิดขึ้น เราเห็นขวดน้ำสามขวดวางไว้อยู่ในรอยแยกของหินพร้อมกับข้อความเขียนว่า “รู้ว่าคุณต้องการสิ่งนี้ ขอให้ดื่มอย่างมีความสุข!” เรามองหน้ากันอย่างไม่เชื่อสายตา กระซิบขอบคุณพระเจ้าเบาๆ และค่อยๆจิบน้ำนั้น แล้วจึงออกเดินทางต่อในระยะสุดท้าย ผมไม่เคยรู้สึกกระหายและรู้สึกขอบคุณมากเช่นนี้มาก่อนเลยในชีวิต
ผู้เขียนสดุดีไม่ได้มีประสบการณ์ที่แกรนด์ แคนยอน แต่เห็นได้ชัดว่าท่านรู้ถึงปฏิกิริยาของกวางว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อมันกระหายน้ำและอาจจะรู้สึกกลัวด้วย กวาง “กระเสือกกระสน” (สดด.42:1) คำนี้ที่ทำให้นึกถึงความหิวและกระหาย จนถึงขั้นที่คุณกลัวว่าคุณอาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้เขียนสดุดีเปรียบความกระหายของกวางว่าเหมือนกับความปรารถนาที่ท่านมีต่อพระเจ้า “จิตวิญญาณของข้าพระองค์ก็กระเสือกกระสนหาพระองค์ฉันนั้น” (ข้อ 1)
เช่นเดียวกับน้ำที่เรากระหายหา พระเจ้าก็ทรงเป็นความช่วยเหลือในทุกเวลาของเรา เรากระหายหาพระองค์เพราะพระองค์ประทานกำลังและการฟื้นชื่นใหม่มาสู่ชีวิตที่อ่อนล้าของเรา และทรงเตรียมเราให้พร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่รอเราอยู่ในการเดินทางของชีวิต
ในการกล่าวสุนทรพจน์พิธีรับปริญญาในปี 2013 ที่มหาวิทยาลัยซีราคิวส์ จอร์จ ซาวเดอส์นักเขียนหนังสือขายดีของ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้ตอบคำถามที่ว่า “อะไรที่ทำให้ผมเสียใจ” โดยการตอบของเขาเป็นไปในแบบที่ผู้อาวุโสกว่า (ซาวเดอส์) แบ่งปันถึงความเสียใจหนึ่งหรือสองครั้งที่เขามีในชีวิตให้กับคนหนุ่มสาว (ผู้สำเร็จการศึกษา) ที่อาจได้เรียนรู้จากตัวอย่างของเขา เขากล่าวถึงบางเรื่องที่ผู้คนอาจคิดว่าเขาเสียใจ เช่น ความยากจนและการทำงานที่ต่ำต้อย แต่ซาวเดอส์กล่าวว่าเขาไม่เสียใจเลยในเรื่องพวกนั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขาเสียใจคือ ความล้มเหลวที่จะแสดงความเมตตา ซึ่งเป็นโอกาสที่เขาต้องแสดงความเมตตาต่อบางคนแต่เขาก็ปล่อยให้มันผ่านไป
อัครทูตเปาโลเขียนถึงผู้เชื่อในเมืองเอเฟซัสเพื่อตอบคำถามที่ว่า ชีวิตคริสเตียนมีลักษณะอย่างไร ซึ่งอาจเป็นคำถามที่กระตุ้นให้เรารีบให้คำตอบ เช่น การมีมุมมองทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง การหลีกเลี่ยงหนังสือหรือภาพยนตร์บางประเภท การนมัสการในรูปแบบใดแบบหนึ่ง แต่วิธีนำไปสู่จุดหมายของเปาโลไม่ได้จำกัดอยู่กับประเด็นร่วมสมัย ท่านกล่าวถึงการละเว้นจาก “คำหยาบคาย” (อฟ.4:29) และการสลัดตนเองให้พ้นจากสิ่งต่างๆ เช่น ใจขมขื่นและใจโกรธ (ข้อ 31) จากนั้นเพื่อสรุป “สุนทรพจน์” ของท่านด้วยใจความสำคัญ ท่านกล่าวกับชาวเอเฟซัสตลอดจนพวกเราว่า “จงเมตตาต่อกัน” (ข้อ 32) และเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังก็คือเพราะพระเจ้าทรงเมตตาต่อท่านในพระคริสต์
ในบรรดาทุกสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นชีวิตที่อยู่ในพระเยซู หนึ่งในนั้นแน่นอนว่าคือการมีความเมตตา